วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Shine ขอเพียงก้าวไปตามใจฝัน

โบ

Shine ขอเพียงก้าวไปตามใจฝัน เป็นภาพยนตร์จากประเทศออสเตรเลีย กำกับโดย Scott Hicks เข้าฉายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนังแนวชีวประวัติ ชีวิต ดนตรี และโรแมนติก โดยสร้างจากเรื่องจริงของ David Helfgott นักเปียโนชาวออสเตรเลียที่มีชื่อเสียง รับบทโดย Geoffrey Rush หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากและได้รับรางวัลออสการ์และรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยม จากการเข้าชิงของหนังทั้งหมด 38 เรื่อง และหนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลกในเวลาไม่นาน

เดวิด เฮลฟ์กอทท์ เติบโตในครอบครัวของชาวยิว มีพ่อที่ค่อนข้างจะจริงจังและไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ด้วยเหตุผลที่ว่า กลัวคนอื่นจะเข้ามาทำลายความเป็นครอบครัวของเขา เขาจึงมักปฏิเสธคำแนะนำจากคนรอบข้าง ในด้านของลูกชาย เดวิดมีความสามรถในด้านดนตรี เขาสามารถเล่นเปียโนบทเพลงที่ยากได้ในขณะที่อายุยังน้อย ความสามารถของเขาทำให้อาจารย์สอนดนตรีท่านหนึ่งสนใจและแนะนำที่จะให้เดวิดได้ฝึกฝนกับอาจารย์ที่มีความสามารถ จนเขาได้ทุนไปเรียนที่อเมริกา ด้วยเหตุนี้ชีวิตของเขาจึงเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน เขามีสังคมที่กว้างขึ้นและเริ่มมีความคิดเป็นของตนเอง ทำให้พ่อผู้เฝ้าดูอยู่ออกมาขัดขวาง และให้เหตุผลว่า สิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตของเขาล้วนเป็นสิ่งที่ทำลายครอบครัว ดังนั้นทั้งสองจึงขัดแย้งกัน ในที่สุดเดวิดก็ตัดสินใจออกจากบ้านและทำตามฝันของตนเอง เขาจึงเลือกที่จะเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอเมริกา และได้เรียนเปียโนกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียง โดยบทเพลงที่เขาใช้ฝึกฝนและแสดงก็คือ Piano concerto no.3 (rachmerninof) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ The Rach 3” โดยบทเพลงนี้ได้รับสมญานามว่าเป็นเพลงที่ดุดันและบรรเลงได้ยากมาก แต่เขาก็สามารถบรรเลงได้

หลังจากจบการแสดงครั้งแรกนั้นเขามีอาการเกร็ง อันเกิดจากความเครียดและกดดันจนเขาหมดสติไป ส่งผลให้เขาไม่สามารถเล่นเปียโนได้ระยะหนึ่ง ชีวิตในช่วงหลังจากนี้จึงเติมไปด้วยความทุกข์ทนมานและ เขาเริ่มมีอาการทางสมอง แต่ชีวิตเขาก็ยังต้องดำเนินต่อไปจนได้พบกับความรักที่เข้ามาเติมเต็มและบรรเทาความหวาดกลัว จนเขากลับมาเล่นเปียโนเครื่องดนตรีที่เขารักได้อีกครั้งหนึ่ง

ฉาก
Shine เป็นหนังที่นำเสนอเกี่ยวกับการใช้ชีวิตท่ามกลางความกดดัน ซึ่งต้องต่อสู้กับอารมณ์และความรู้สึกของตนเองด้วย ฉากและบรรยากาศจึงใช้สีโทนหม่นๆ เพื่อแสดงถึงความหมองหม่นและสับสน บรรยากาศโดยรอบดูจืดชืดไร้ชีวิตชีวายิ่งเสริมให้เห็นถึงความรู้สึกของตัวละครเด่นชัดมากขึ้น

ตัวละคร

เดวิด เฮลฟ์กอทท์ (David Helfgott)
เดวิด เฮลฟ์กอทท์เป็นตัวละครเอกของเรื่อง ซึ่งเป็นตัวละครที่ค่อนข้างกดดัน เนื่องจากเขามีชีวิตที่ถูกตีกรอบมาให้ตั้งแต่ยังเล็ก เขาถูกพ่อฝังหัวให้เชื่อว่าเขาเป็นคนที่โชคดีมาก ดังนั้นเขาไม่ควรที่จะต้องออกไปแสวงหาอะไรจากโลกภายนอกเพิ่มเติม เพราะโลกภายนอกนั้นโหดร้าย คนที่แข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้ในความคิดของพ่อ ดังนั้นชีวิตเขาที่ผ่านไปจึงถูกขับเคลื่อนด้วยความคิดของพ่อไม่ใช่ตัวเขาเอง ซึ่งการที่พ่อเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเขา แสดงให้เห็นถึงปมอดีตที่มีในชีวิตของพ่อ ซึ่งพ่อได้ผ่านเรื่องเลวร้ายและผิดหวังมาก่อนจนทำให้ขยาดกับโลกภายนอก เมื่อเดวิดโตขึ้น เขาเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่เข้ามา ทำให้เกิดความคิดของตนเองและอยากทำตามความฝัน ในตอนนี้จึงทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างตัวละครสองตัวขึ้นในเรื่องของความคิดและทัศนะคติในการมองโลก เดวิดมองโลกภายนอกว่าสดใสน่าค้นหา แต่พ่อมองว่าอันตรายและน่ากลัว แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจทำตามฝันของตนเอง เพราะเขาต้องการที่จะหลุดจากกรอบที่พ่อเขาขีดไว้ให้ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ที่สุดแล้วมนุษย์ก็ยังจะต้องอยู่กับความเป็นจริง ยังต้องดำเนินอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นๆ

ปีเตอร์ เฮลฟ์กอทท์ (Peter Helfgott)
ผู้เป็นพ่อที่มีปมชีวิตจากการถูกจำกัดสิทธิในการแสดงออกถึงความต้องการและความคิด จากประโยคที่เขามักจะพูดเสมอๆว่า เขามีไวโอลินตัวหนึ่ง แต่ถูกพ่อของเขาทำลายมันทิ้ง ซึ่งเปรียบเหมือนเขาถูกทำลายความฝัน ทำให้เขาเกิดความคิดว่าการที่เราเลือกจะทำตามความฝันของตนเอง สักวันเราก็จะถูกคนรอบข้างทำลายความฝันของเรา ดังนั้นการออกไปเผชิญกับสิ่งภายนอกจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ดังนั้นเขาจึงไม่อยากให้ครอบครัวของเขาต้องถูกทำลายเช่นนั้นอีก เขาจึงมักจะทำให้ลูกๆของเขาคิดว่า พวกเขาเหมือนคนทั่วไปและอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ เพื่อให้ลูกๆไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิและแปลกไปจากคนอื่น โดยเขามักจะบอกกับลูกๆเสมอว่า “เธอเป็นคนที่โชคดี โชคดีมากๆ” และ “ไม่มีใครรักลูกเหมือนที่พ่อรัก ไม่มีใครเหมือนพ่อ” เขาจึงเป็นผู้ที่ควบคุมความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นในครอบครัวทั้งหมด ซึ่งตัวละครนี้จึงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเดวิดและคนในครอบครัวเป็นอย่างมาก


สัญลักษณ์
ตารางกระโดด ตารางกระโดดที่กลุ่มเด็กๆวาดเส้นลงบนพิ้น และกระโดดเล่นสนุกกันตามแต่ละช่อง ซึ่งฉากนี้จะอยู่ในตอนที่เดวิดและพี่น้องเดินผ่านระหว่างทางกลับบ้าน เป็นฉากที่แสดงถึงชีวิตวัยเด็กที่ขาดหายไป เดวิดไม่ได้เล่นสนุกอย่างอิสระเหมือนเด็กคนอื่นๆ เดวิดทำได้แค่กระโดดในกรอบตารางเหล่านั้น เมื่อสิ้นสุดตาราง เขาก็รีบเดินตามพ่อไปอย่างปกติ ซึ่งตารางกระโดดนี้ก็มีเส้นแบ่งขอบเขตและระยะชัดเจน ทำให้เห็นว่าถึงแม้จะมีโอกาสเล่นสนุกแต่เขาก็ทำได้แต่เพียงมนกรอบเท่านั้น
น้ำ เป็นสัญลักษณ์ที่พบบ่อยในเรื่อง ซึ่งมักจะพบในตอนที่เดวิดอึดอัดและต้องการปลดปล่อย น้ำเปรียบเสมือนที่ระบายและแสดงความเป็นตัวตนของเขา ไม่ว่าจะเป็นฉากฝนตก ฉากที่ทะเล และฉากในห้องน้ำ
แว่นตาของพ่อ ซึ่งถึงแม้เลนส์ของแว่นจะแตกแต่พ่อก็ไม่ได้เปลี่ยน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้อะไรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่มุมมองและทัศนคติของพ่อยังคงเหมือนเดิม
ก๊อกน้ำที่ปิดไม่สนิท แสดงถึงการที่เราไม่สามารถควบคุมหรือเก็บความกดดันไว้ทั้งหมดได้ แม้จะพยายามแล้ว แต่ความกดดันนั้นก็พร้อมที่จะปลดปล่อยออกมาได้ตลอดเวลา
เบาะกระโดด อยู่ในฉากตอนท้ายๆ ในช่วงที่เดวิดมีอาการดีขึ้น เขาร่าเริงและกระโดดอยู่บนเบาะอยู่นาน แสดงถึงความปลดปล่อยซึ่งจากเดิมที่กระโดดได้แค่ในตารางที่ขีดเอาไว้ แต่ตอนนี้เขาสามารถกระโดดได้สูงตามที่ใจต้องการ
บทเพลง “ Piano concerto no.3” เป็นบทเพลงที่สำคัญและก่อให้เกิดจุดหักเหในเรื่อง และพ่อก็อยากให้เดวิดเล่นเพลงนี้ เนื่องจากบทเพลงนี้มีท่วงทำนองที่ดุดันและมีลูกเล่นมากมาย ยากต่อการบรรเลง ผู้ที่เล่นได้จึงถือว่ามีความสามารถมาก บทเพลงนี้จึงแสดงให้เห็นถึงการต้องการเอาชนะความกดดันและสิ่งรอบข้าง

สรุปและคุณค่า
หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างชัดเจน สามารถกระทบใจคนดูให้คิดและพิจารณาได้ตลอดทั้งเรื่องว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เขาต้องเป็นเช่นนี้คืออะไร และยังทำให้คนดูได้สัมผัสถึงแง่มุมของความคิดที่กลายเป็นปมชีวิต จนทำให้เราไม่กล้าที่จะเผชิญกับความจริง อีกทั้งยังนำเสนอการมองโลกของแต่ละคน ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ทั้งนี้ก็เกิดจากปัจจัยครอบครัวและสิ่งรอบข้างเป็นสำคัญ และอยู่ที่เราจะเลือกเดินตามเส้นที่คนอื่นวาดไว้หรือจะทำตามใจของตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น: