วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2551

พระเจ้าในห้องสมุด



พระเจ้าในห้องสมุด
เซโอะ ไมโกะ เขียน
แปลโดย หนึ่งฤทัย ปราดเปรียว
ปีพิมพ์ 2551
สำนักพิมพ์ JBOOK
143 หน้า กระดาษถนอมสายตา
135 บาท

เมื่อมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความรัก แต่ความรักของมนุษย์นั้นไม่เป็นไปอย่างที่หวัง ทั้งจากคนรักและคนรอบข้าง ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถูกผันเปลี่ยนเป็นความเหินห่าง กอปรกับความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ที่ตนไม่ได้ก่อไว้ในทางตรง ความรู้สึกเหล่านี้ต่างเป็นแรงผลักดันให้เกิดความสูญเสียสิ่งที่รักไป แต่ก็ใช่ว่าจะสิ้นไปหมดทุกอย่าง เพราะเมื่อความรักดั่งดอกไม้ที่แท้จริง ค่อยๆเจริญเติบโต อยู่ภายในส่วนลึกของจิตใจ

พระเจ้าในห้องสมุด หนึ่งในผลงานการเขียนโดยชาวญี่ปุ่น เซโอะ ไมโกะ เจ้าของรางวัลนักเขียนหน้าใหม่ โยชิกาวาเอจิ ครั้งที่ 26 แปลโดยหนึ่งฤทัย ปราดเปรียว หนังสือเล่มนี้เป็นนิยายแห่งความรักในชีวิต และความหมายของความฝันที่ชาวญี่ปุ่นยกย่องว่าสนุกรื่นรมย์เหมือน Dead Poet Society

เรื่องเริ่มต้นเมื่อคิโยะ เด็กสาวกัปตันทีมวอลเลย์บอล ผู้ยึดติดกับกฎเกณฑ์ และมุ่งมั่นใส่ใจในการกระทำทุกสิ่งที่จะทำให้เธอไปถึงฝัน แต่แล้ววันหนึ่งเกิดเหตุการณ์พลิกผันในชีวิต ทำให้เธอต้องละทิ้งความฝัน และถอยห่างจากสิ่งที่เธอรัก คิโยะเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต อย่าท้อถอย และปล่อยไปตามกระแสของโลก ของเหตุการณ์ ของพลังความกดดันจากคนรอบข้าง จนเธอตัดสินใจมาเป็นครูในโรงเรียนมัธยมต่างจังหวัด โชคชะตาขีดให้เธอกลายเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมวรรณศิลป์ ทั้งที่ไม่เต็มใจนัก ทว่าในบรรยากาศของห้องสมุดโรงเรียนมัธยมปลาย นั่นเรียบเรื่อย ทำให้คิโยะกลับค้นพบความหมายของชีวิตอีกครั้ง จากประกายดวงน้อยของคาคิอุจิ สมาชิกหนึ่งเดียวในชมรมวรรณศิลป์เป็นผู้จุดขึ้น

นิยายเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องที่อาจตรงใจกับผู้อ่านหลายๆคน เนื่องจากเป็นเรื่องราวของชีวิต ความหวัง ความฝัน และความรักที่มิอาจเปิดเผย ซึ่งล้วนแล้วเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เพียงแต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไป พระเจ้าในห้องสมุดจึงสามารถจุดประกายความคิดกับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี มีการแทรกเรื่องราววรรณกรรมญี่ปุ่นรวมเข้ากับเนื้อเรื่อง ทำให้เนื้อเรื่องดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักวรรณกรรมญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆ

ถึงแม้ว่านิยายเรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต แต่ภาษาและความน่าสนใจของการเขียนกลับไม่ได้น่าเบื่อ ไม่ได้เครียด อีกทั้งยังอ่านได้ต่อเนื่องเข้าใจง่าย ด้วยภาษาที่เรียบง่าย เข้าใจได้ไม่ยาก บางครั้งใช้ภาษากวีญี่ปุ่นผสมไปด้วย ทำให้เรื่องมีความน่าสนใจ ชวนขบคิดถึงความหมายของวลีแต่ละวลีที่แทรกซึมอยู่ในบทสนทนา ดังเช่นวลีตอนต้นของบทประพันธ์เรื่องโจะโจคะ ที่ว่า “การเอ่ยอะไรกับคนที่ตายไปแล้ว ช่างเป็นธรรมเนียมของมนุษย์ที่แสนเศร้าเสียนี่กระไร” ทำให้เห็นสัจธรรมของการกระทำของมนุษย์ บางช่วงมีการใช้คำพูดที่เป็นสัญลักษณ์ ที่แสดงให้เห็นลักษณะนิสัยของตัวละครด้วย

นิยายอ่านง่ายช่วยทำให้จิตใจ แนวคิด และชีวิตละมุนขึ้นในสภาวะปัจจุบัน คำตอบของการกระทำที่แฝงอยู่ในตัวละครมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เราได้คิดถึง และหันไปมองการกระทำของเราว่าได้ลืม หรือทำสิ่งใดขาดหายไปหรือไม่ จึงทำให้เรื่องนี้สื่อข้อคิดออกมาได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ชีวิตที่ขาดหายอาจเติมเต็มด้วยความอิ่มเอมใจ เหมือนกับคิโยะที่ไม่อาจจะดูแลดอกไม้ไม่ให้เฉาได้ แต่เธอกลับปลูกดอกไม้แห่งความรักความอาลัยที่แท้จริงได้ในภายหลัง หรือมุมมองของทาคุมิ น้องชายของคิโยะที่มีมุมมองแตกต่างจากคนอื่นเช่นเลือกคบผู้หญิงที่ชอบพูดโกหก เพราะถ้าได้ฟังเรื่องโกหกทุกวัน ก็สนุกได้โดยไม่ต้องดูโทรทัศน์หรืออ่านการ์ตูน

นอกจากนี้นิยายเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความน่ารักต่างวัยของพี่น้อง อาจารย์กับลูกศิษย์ หรือการสานสายใยของคนทำผิดกับผู้ให้อภัย ที่ทำให้ผู้อ่านอ่านแล้วยิ้มได้ทั้งใจและใบหน้า สร้างความอบอุ่นให้หัวใจ ตลอดทั้งเล่ม ซึมซับกับบรรยากาศของฉากที่ใครต่อใครวาดฝันอยากไปอยู่ ทั้งริมทะเล ติดภูเขา หรือกลิ่นหอมของอาหารและขนมที่ถูกเขียนขึ้นอย่างน่าทาน ทำให้เรื่องนี้ไม่ใช่ได้แต่รสคำ แต่ได้ทั้งรสใจ รสกายและรสฝันอีกด้วย

ดังนั้นหากที่อยากจะเปิดความฝันเปิดความคิด เปิดชีวิตให้ดำเนินไปอย่างมีความหมาย พระเจ้าในห้องสมุดเล่มนี้จะคอยเปิดใจให้ผู้อ่านให้รู้จักกับความหมายของชีวิต และความรักเหล่านั้นมากขึ้น เพราะชีวิตไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเรากับความฝัน ตัวเรากับกฎเกณฑ์ แต่เป็นตัวเรากับสายสัมพันธ์หลากหลายสาย แล้วผู้อ่านจะรู้จักใจตัวเอง ตอบคำถามในใจของตัวเองได้ว่า จะรอถึงเมื่อไหร่เราถึงจะได้รับรู้ถึงความรักและชีวิตที่แท้จริงนั่นเสียที

สิทธิชัย

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หนังสือเล่มนี้น่าอ่านดีนะคะ
เขียนวิจารณ์ได้น่าสนใจดี
แต่บางครั้งยังใช้คำฟุ่มเฟือยไปหน่อย