วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Daratt


Daratt


ชินาภรณ์ สุทธิชาโต 05490107

“อาติม” (Atim ในภาษาอาหรับแปลว่า “เด็กกำพร้า”) เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งสูญเสียพ่อไปในช่วงสงครามกลางเมือง พ่อของเขาถูกฆ่าตั้งแต่เขายังอยู่ในท้องแม่ อาติมรับรู้เรื่องราวแห่งความสูญเสียนี้จากญาติที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวคือปู่ และเมื่อมีการประกาศนิรโทษกรรมนักโทษ ทางเลือกสุดท้ายที่ปู่ฝากความหวังไว้ก็คืออติม ความแค้นนี้ผลักดันให้เด็กหนุ่มวัย 16 ปีพกพาปืนเดินทางจากบ้านไปหลายไมล์ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้แค้นแทนพ่อ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในลำดับต่อมาก็คือ อติมได้พบว่า “นาสซารา” อดีตมือสังหารบิดาของเขานั้น บัดนี้ เป็นเพียง “ชายแก่ๆ” คนหนึ่งซึ่งทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำขนมปังขายอยู่กับภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ และนั่นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อาติมเกิดความลังเลที่จะแก้แค้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเคียดแค้นของครอบครัวของคนที่ถูกอาชญากรฆ่า แต่ทำอะไรไม่ได้เนื่องจากกฎหมายนิรโทษกรรม สะท้อนถึงประเด็นบางอย่างทางการเมือง และยังแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่ซับซ้อนมาก คือ ความแค้นของอติมและปู่ที่มีต่อฆาตกร ทั้งนี้ความแค้นของอาติมไม่ได้เกิดขึ้นในฐานะของผู้ที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์สงครามกลางเมือง เขารับความแค้นนี้ผ่านทางปู่ แต่เมื่อมาแก้แค้นเขากลับลังเลใจที่จะฆ่านาสซารา ทำให้เราคิดได้ว่าตัวอติมเองนั้นมีความรู้สึกที่โหยหาความรักจากพ่อ และนาสซาราก็ได้เติมเต็มสิ่งนั้นให้แก่อติม จนสุดท้ายความแค้นที่มีอยู่เริ่มแปรเปลี่ยน อาติมลังเลใจที่จะฆ่านาสซาราแม้ว่าจะมีโอกาสหลายครั้ง เขาไม่แน่ใจกับสิ่งที่ตนเองจะกระทำ และท้ายที่สุดเมื่อเขาได้พานาสซาราไปพบกับปู่ (จึงเข้าใจได้ว่าเหตุใดนาสซาราถึงพูดโดยไม่ใช้เครื่องขยายเสียงไม่ได้และเหตุใดปู่อติมถึงตาบอด) ปู่สั่งให้อาติมถอดเสื้อผ้านาสซาราและบังคับให้คุกเข่า จากนั้นเขาสั่งให้อาติมฆ่านาสซาราเสีย เหตุการณ์นี้ได้แสดงให้เห็นว่าความแค้นของอาติมที่มี่ต่อฆาตรฆ่าพ่อได้จางหายไปแล้ว เพราะเขายิงปืนขึ้นฟ้าสองนัดให้ปู่ได้ยินเสียงปืน เพื่อให้ปู่รู้สึกว่าได้แก้แค้นแทนลูกชายแล้ว

การถอดเสื้อผ้าของนาสซาราในตอนท้ายของเรื่องเป็นการแสดงออกถึงสัญลักษณ์บางอย่าง คิฉันคิดว่าปู่ของอาติมทำเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าและนี่เป็นการกระทำที่หยามเกียรติต่ออีกฝ่ายอย่างมาก เมื่อพิจารณาผ่านวัฒนธรรมอิสลาม

ความขัดแย้งในเรื่องที่เด่นชัดคือความขัดแย้งภายในจิตใจของอาติม ระหว่างความแค้นกับความเห็นใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ และความผูกพันใกล้ชิดที่ค่อยๆกัดเซาะความแค้นไปเรื่อยๆ อีกทั้งเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าไม่มีใครเลวจนสุดขั้ว แม้แต่ฆาตกรก็ยังกลับใจได้ สุดท้ายตัวอาติมก็อาจจะคิดได้ว่าหากเขาฆ่านาสซาราเขาก็ไม่ต่างจากฆาตกรและยังจะมีการล้างแค้นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาติมจึงต้องการที่จะให้ความแค้นจบลงเลยไม่ยิงนาสซารา

ความสัมพันธ์ของตัวละครเป็นสิ่งที่เด่นชัดที่สุด โดยเฉพาะบทบาทของอาติมที่เป็นตัวทำให้เรื่องดำเนินไปพร้อมกับบทบาทของนาสซารา ความรู้สึกที่ทั้งสองแสดงต่อกันในบางครั้งก็ตึงเครียด บางครั้งก็ดูผ่อนคลาย

ยิ่งไปกว่านั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอิสลามที่ชายเป็นใหญ่มีสิทธิ์ในการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง จากตอนที่อติมนั่งคุยเล่นกันกับไอช่าภรรยาของนาสซาราแล้วไม่ได้โพกผ้าที่ศีรษะตามธรรมเนียมบังคับ เมื่อนาสซารามาเห็นก็ได้ลงโทษไอช่าด้วยการเฆี่ยนตีอย่างรุนแรง ส่วนอติมก็ได้แต่โมโหและสงสารแต่ก็ไม่มีสิทธิห้าม

ดิฉันคิดว่าผู้กำกับต้องการจะสื่อความต่อคนรุ่นใหม่ว่าอย่าไปยึดติดกับการแก้แค้นด้วยความรุนแรง อะไรที่ผ่านมาแล้วควรพยายามให้อภัยและให้โอกาส ถึงคนรุ่นเก่าจะยึดติดกับความเคียดแค้น แต่อาติมซึ่งเปรียบเสมือนกับคนรุ่นใหม่จะต้องละทิ้งบางอย่างไว้เบื้องหลังเพื่อการก้าวไปข้างหน้า ทั้งทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและคนรุ่นหลังต่อไป

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เราชอบโทนสีในเรื่องนี้มาก ....แล้วก็ตอนจบของเรื่องด้วย ที่อาติมยิงปืนขึ้นบนฟ้าทำเป็นว่าได้แก้แค้นแทนปู่แล้ว แสดงถึงกึ๋นของอาติม 55 และถึงแม้ว่าปู่จะไม่รู้ว่า หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ว่าอาติมไม่ได้ยิงก็ตาม แต่ก็พอใจกันทั้งสองฝ่าย 1.คือปู่พอใจที่อาติมแก้แค้นให้ 2.คืออาติมก็พอใจที่ไม่ต้องฆ่านาสซาร่า เป็นตอนจบที่หาทางออกให้กับตัวละครได้ดีเลยทีเดียว