เอื้อบุญ
Shine เป็นภาพยนตร์ของผู้กำกับ Scott Hicks ผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีอคาเดมี อวอร์ดส์(OSCAR) ประจำปี 1997 เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากชีวิตจริงของนักเปียโนชาวออสเตรเลีย – ยิว
ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของเดวิด เฮลฟ์กอตต์ เด็กชายผู้มีแววอัจฉริยะทางด้านเปียโนถูกผู้เป็นพ่อบังคับเคี่ยวเข็ญให้ฝึกเปียโนอยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา จนเดวิดสามารถเป็นผู้ชนะในการประกวดและได้รับเชิญให้ไปเรียนต่อที่สถาบันดนตรีชื่อดังของสหรัฐอเมริกา แต่พ่อไม่ยอม เดวิดจึงต้องใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ต่อไป ต่อมาเดวิดได้พบกับแคทเทอรีนนักเขียนชื่อดังชาวรัสเซียคนหนึ่ง เดวิดไปเล่นเปียโนที่บ้านของเธออยู่เสมอ เธอคอยสนับสนุนและให้กำลังใจเขาจนกระทั่งเดวิดได้เข้าร่วมแข่งขันเปียโนอีกครั้ง แต่ผลปรากฏว่าเขาแพ้ แต่ก็ได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ เดวิดตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ตนต้องการโดยไม่สนใจคำคัดค้านของพ่อเป็นเหตุให้ถูกตัดขาดจากครอบครัว เมื่อมาอยู่ที่อังกฤษได้ไม่นานนักเดวิดได้รับข่าวร้ายว่าแคทเทอรีนเสียชีวิต อีกทั้งจดหมายทุกฉบับที่ส่งถึงพ่อก็ถูกตีกลับมาหมด เขาจึงทุ่มเทฝึกซ้อมโดยมีเซซิล อาจารย์ชื่อดังเป็นผู้ฝึกสอนให้ จนในที่สุดเขาก็สามารถบรรเลง Rach 3 ของ Rachmaninoff บทเพลงที่พ่อบังคับให้เขาเล่นเมื่อครั้งยังเด็ก เมื่อสิ้นสุดการบรรเลง เดวิดก็ล้มลงหมดสติ เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและต้องพักรักษาตัวถึง 10 กว่าปี ก่อนที่จะพบกับกิลเลี่ยน หมอดูดวงผู้อารีย์ ที่ให้ความรักและคอยเยียวยาเดวิดจนอาการของเขาดีขึ้นเรื่อย ๆ
ภาพยนตร์เปิดฉากที่เดวิดในวัยกลางคนยืนพึมพำกับตนในคืนฝนพรำ แล้วออกวิ่งฝ่าสายฝนไปตามถนนไปหยุดอยู่ที่หน้าร้านอาหาร สายตาของเขาจับจ้องไปที่เปียโน จากนั้นหนังก็ได้เล่าย้อนไปถึงเรื่องราวในวัยเด็กของเด็กชายเดวิด ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่เหมือนเด็กคนอื่น ๆ ในขณะที่เพื่อน ๆ วิ่งเล่นกันอยู่ข้างนอก เขาต้องนั่งฝึกเปียโนอยู่ในบ้าน เด็ก ๆ ต่างมองว่าครอบครัวนี้ประหลาดดีแท้ จึงกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม เห็นได้ชัดในฉากที่เดวิด พ่อ และน้องสาว ออกไปเก็บขวดในหมู่บ้าน เด็ก ๆที่กำลังเล่นกระโดดกันอยู่นั้นก็ถอยออกห่างและแลบลิ้นปลิ้นตาใส่
เรื่องดำเนินต่อไปจนกระทั่งเดวิดแข่งเปียโนชนะและได้รับเชิญไปเรียนต่อที่อเมริกาแต่พ่อไม่ยอมให้ไป ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ คือพ่อกับเดวิด จึงเริ่มขึ้น และได้กลายเป็นจุดแตกหักของพ่อกับลูกในที่สุด เมื่อเดวิดได้รับทุนไปเรียนดนตรีที่ประเทศอังกฤษ และตัดสินใจเลือกเส้นทางด้วยตนเองบ้างหลังจากถูกตีกรอบมานาน
เดวิดเป็นตัวละครที่เสมือนหุ่นกระบอกโดยมีพ่อเป็นผู้เชิดอยู่เบื้องหลัง กรอบที่พ่อสร้างไว้ทำให้ชีวิตในวัยเด็กของเขาหายไปเดวิดไม่เคยได้คิดหรือทำอะไรด้วยตัวเองเลยพ่อสั่งให้ทำก็ทำ พ่อสั่งให้พูดก็พูด กลายเป็นคนที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ในการแข่งขันในแต่ละครั้ง แม้ปากจะบอกว่า “จะต้องชนะ” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่พ่อพร่ำสอนอยู่เสมอ แต่ในใจของเขากลับไม่มีความเชื่อมั่นอยู่เลย ความกดดันที่มีอยู่แล้วยิ่งมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ จนกระทั่งได้พบกับแคทเทอรีน นักเขียนชื่อดังชาวรัสเซียซึ่งกลายมาเป็นที่พักพิงทางใจของเขา ถุงมือสีแดงที่เธอมอบให้เดวิดนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่นและความพลังของคนหนุ่มที่ต้องออกไปเผชิญกับโลกกว้าง เมื่อเดวิดใส่ถุงมือเขาจะรู้สึกมั่นใจ กล้าออกเดินทางตามฝัน
จุดวิกฤตเริ่มต้นขึ้นเมื่อตัวละครเอกเดินทางไปเรียนดนตรีที่อังกฤษ แล้วทุ่มเทซ้อมอย่างหนักเพื่อจะเล่นRachmaninoff หมายเลข 3 ให้จงได้ และในที่สุดเขาก็สามารถบรรเลงบทเพลงนี้ได้ท่ามกลางความชื่นชมของทุกคน แต่อนิจจา...เดวิดไม่สามารถรับรู้ความสำเร็จในครั้งนั้นได้ เพราะเขาล้มหมดสติไปเสียก่อน
เดวิดกลับมาออสเตรเลียในสภาพคนสติแตก มีกระบวนการคิดที่ผิดปกติ คือมีความคิดที่รวดเร็วไม่ปะติดปะต่อ หลุดเข้าไปอยู่ในโลกของตัวเอง ดูเหมือนว่าเขาก็พอใจที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนั้น เพราเป็นช่วงเวลาที่เดวิดไม่ต้องกังวลสนใจกับสิ่งใด ๆ เลย ใช้ชีวิตราวกับว่าเป็นการทดแทนวัยเด็กที่ขาดหายไป ดังฉากทั่วละครเอกเดินตามพยาบาลไปอาบน้ำ กล้องจับภาพไปยังขาของเขาที่กระโดดตามพยาบาลไปอย่างเริงร่า
เรื่องเริ่มคลายปมเมื่อเบอริล แฟนเพลงของเดวิดรับเขามาดูแล เดวิดได้ทำทุกอย่างตามใจต้องการ แม้กระทั่งการเล่นเปียโนที่แพทย์สั่งห้าม ดนตรีที่ใช้ประกอบฉากเริ่มให้ความรู้สึกสดชื่น ท้องฟ้าแจ่มใสไร้เงาทะมึนของเมฆฝนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมรสุมแห่งชีวิต เดวิดกระโดดตัวลอยอยู่ในสวน เสียบหูฟังฟังเพลงไปด้วยเป็นฉากหนึ่งที่เรียกรอยยิ้มได้ไม่ยาก และมีความสุขจนอาจทำให้เผลอคิดไปว่าตัวเองเป็นเดวิด วันนั้นนั่นเอง กิลเลียน หมอดูดวงผู้อารีย์ได้เข้ามาในชีวิตของเขา ใช้ความรัก ความเข้าใจเยียวยาจนอาการของเดวิดดีขึ้นตามลำดับ
พ่อของเดวิดก็เป็นอีกตัวละครที่มีปมในใจ กล่าวคือชีวิตในวัยเด็กเขาไม่เคยได้รับในสิ่งที่ต้องการ จึงนำสิ่งเหล่านี้มายัดเยียดให้กับเดวิด อีกทั้งยังเป็นยิวที่อพยพมาจากโปแลนด์ ความเจ็บปวดที่ได้รับเป็นเหตุให้เขาต้องการเห็นครอบครัวอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แม้ว่าในตอนท้ายเขาได้ยกโทษให้กับเดวิด แต่เขาก็ยังอยากจะมีลูกที่เชื่อฟังพ่อและทำตามทุกอย่างเช่นเคย ดังแว่นตาที่แตกร้าวของพ่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงคนหัวโบราณไม่ยอมปรับเปลี่ยนทัศนคติของตน
การเปิดคอนเสิร์ตของตัวละครเอกก่อนจบเรื่อง แล้วมีผู้ชมขอให้เขาเล่นอีกนั้น ทำให้เดวิดดีใจคล้ายกับว่าความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าครั้งนี้เขาจะไม่ได้เล่นRachmaninoff ก็ตามที
การปิดเรื่องที่สุสานในบรรยากาศที่สดใสนั้น เปรียบเสมือนกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของเดวิด.... “ทุกสิ่งมีฤดูกาลของมัน” ต่อจากนี้ไปคงเป็นฤดูกาลของเดวิด
ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นอีกเรื่องที่ฉันต้องเสียน้ำตาให้อย่างไม่อายใคร ชีวิตที่ขมขื่นและมีอุปสรรคขวากหนามมากมายของเดวิด ทำให้ปัญหาที่รุมเร้าเข้ามาในชีวิตของฉันเทียบไม่ได้แม้เศษเสี้ยวของชีวิตเดวิดเลยด้วยซ้ำไป ...ถ้าโลกเป็นละครโรงใหญ่ เราจะยอมให้เขากำหนดบทชีวิต หรือเราจะต้อนผู้กำกับให้จนมุมกันดีล่ะ ...ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ตั้งสติให้มั่นไว้เป็นพอ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี อย่างที่เดวิดบอกว่า “ ชีวิตยังไม่สิ้น ก็ต้องดิ้นกันต่อไป”
วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
บทวิจารณ์ไม่ได้พูดถึงองค์ประกอบอื่น นอกจากโครงเรื่อง ควรให้ความสำคัญที่บทบาทของตัวละครบ้าง และแก่นเรื่อง ซึ่งจะนำไปสู่ย่อหน้าสุดท้ายได้เป็นอย่างดีค่ะ
แสดงความคิดเห็น